วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

อิสลามกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School)

อิสลามกับการจัดการศึกษาโดยครอบครัว (Home School)
ทางเลือกเมื่อสถานการณ์รุนแรง จนโรงเรียนต้องปิดบ่อย

          ในสถานการณ์ความไม่สงบ บางโรงเรียนกำหนดเวลาเลิกเรียนเวลา 14.30 น. ทำให้เวลาของการจัดการเรียนการสอน ไม่เพียงพอส่งผลทำให้ประสิทธิผลด้านการศึกษาของนักเรียนต่ำลง ประกอบกับเมื่อเกิดเหตุการณ์ความรุนแรงขึ้นในพื้นที่ ทำให้มีมติที่ประชุมกลุ่มโรงเรียนสั่งหยุดการเรียนการสอนบ่อยครั้ง ทำให้เด็กมีเวลาในการเรียนไม่เพียงพอ กับข้อกำหนดของทางราชการ และจากสถานการณ์ที่เกิดขึ้นขึ้นทำให้ครู บุคลากรทางการศึกษารวมทั้งเด็กนักเรียน ได้รับผลกระทบทางด้านจิตใจที่ส่งผลต่อการจัดการเรียนการสอนและการเรียนรู้

 
         แม้ว่าจากสถานการณ์ที่เป็นอยู่ทำให้หลายครอบครัว แก้ปัญหาการศึกษาของบุตรด้วยการจัดย้ายที่เรียนไปยังโรงเรียนที่ไม่มีปัญหา อันเนื่องจากผลกระทบจากสถานการณ์ความไม่สงบ แต่ในสภาพความเป็นจริงครอบครัวที่สามารถแก้ปัญหาด้วยการย้ายที่เรียนให้ กับบุตรได้นั้น มีเพียงส่วนน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ไม่อาจแก้ไขปัญหานี้ด้วยตนเอง จึงจำเป็นต้องอยู่และยอมรับสภาพการทีเป็นอยู่ต่อไป ทั้งๆ ที่ในความเป็นจริงผู้ปกครองสามารถจัดการเรียนการสอนด้วยตัวเอง ในลักษณะการศึกษาโดยครอบครัว การศึกษาทางเลือก ในหลายรูปแบบ ซึ่งพระราชบัญญัติการศึกษาแห่งชาติ พ.ศ. 2542 ได้กำหนดให้การจัดการศึกษาต้องยึดหลักว่า ผู้เรียนทุกคนมีความสามารถเรียนรู้และพัฒนาตนเองได้ และถือว่าผู้เรียนมีความสำคัญที่สุด กระบวนการจัดการศึกษาต้องส่งเสริมให้ผู้เรียนสามารถพัฒนาตามธรรมชาติ และเต็มตามศักยภาพ โดยสามารถจัดการศึกษาทั้งในระบบ นอกระบบ และการศึกษาตามอัธยาศัย
          ผู้ปกครองควรเข้ามามีบทบาทในการแก้ปัญหาความไม่พร้อมในการจัดการ เรียนการสอนของโรงเรียนอันเกิดจากเหตุการณ์ความไม่สงบในพื้น ด้วยการตั้งคำถามว่า “เหตุใดการศึกษาโดยครอบครัวหรือ Home School จึงถูกมองข้าม” ทั้งที่เป็นการเรียนการสอนที่เหมาะสม สามารถยืดหยุ่นได้ตามสถานการณ์และมีความเหมาะสมด้วยประการทั้งปวง โดยสนใจศึกษาโรงเรียนในเขตอำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส จึงได้เกิดเป็นโครงการวิจัย เรื่อง “ศึกษาและปฏิบัติการจัดการระบบการศึกษาโดยครอบครัว (Home School) ร่วมกับอาสาสมัครผู้ปกครองนักเรียนระดับประถมศึกษาในพื้นที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส” โดยมีคุณสะรอนี ดือเระ เป็นหัวหน้าโครงการวิจัย
          ผลการวิจัย พบว่า ก่อนหน้านี้ได้มีครอบครัวในพื้นที่อำเภอยี่งอ จังหวัดนราธิวาส ได้เคยจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน (Home School) โดยการรวมกลุ่มจัดตั้งศูนย์การเรียนรู้ ในลักษณะการศึกษาทางเลือก ที่โรงเรียนอิสลามบูรณะโต๊ะนอ อำเภอเมือง จังหวัดนราธิวาส ที่นำโดยนายแพทย์แวมาหาดี แวดาโอ๊ะ เมื่อประมาณ 4-5 ปีก่อนหน้านี้ และได้หยุดดำเนินการไปแล้ว อย่างไรก็ตามจากการสืบค้นพบว่า กลุ่มครอบครัวที่ได้ร่วมจัดการศึกษาดังกล่าวกระจายอยู่ในหลายอำเภอของจังหวัดนราธิวาสคือ อำเภอเมือง อำเภอตากใบ เป็นต้น และมีเพียงหนึ่งครอบครัวที่อยู่ในพื้นที่ อำเภอยี่งอ คือ ครอบครัวคุณฉายา ยะพา และมีครอบครัวที่สนใจการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียนจำนวน 7-8 ครอบครัว แต่ไม่มีความเชื่อมั่นว่าจะเป็นผู้จัดการเรียนรู้แบบบ้านเรียนได้หรือไม่ และแม้ว่าโรงเรียนต่างๆ ที่มีอยู่ในพื้นที่อำเภอยี่งอจะเป็นโรงเรียนชุมชนขนาดเล็ก แต่ด้วยเป็นอำเภอที่อยู่ห่างจากตัวจังหวัดนราธิวาสเพียง 15 กิโลเมตร จึงทำให้ครอบครัวในพื้นที่อำเภอยี่งอมีทางเลือกในการส่งบุตรเข้าเรียนในโรงเรียนขนาดใหญ่ในตัวจังหวัดนราธิวาส ซึ่งมีโรงเรียนที่สังกัดเทศบาลเมือง โรงเรียนเอกชน และโรงเรียนเอกชนสอนศาสนาอิสลาม เพราะเชื่อมั่นในคุณภาพการเรียนการสอนมากกว่าโรงเรียนในชุมชน
          ทัศนคติของครอบครัวที่มีความสนใจในการจัดการศึกษาโดยครอบครัวหรือ บ้านเรียน (Home School) นั้น เนื่องจากไม่พอใจต่อการจัดการเรียนการสอนของโรงเรียน บางครอบครัวกังวลในเรื่องสุขภาพอนามัย โดยเฉพาะอย่างยิ่งการที่เด็กบริโภคอาหารประเภทขนมขบเคี้ยวที่อาจจะมีสารที่ เป็นอันตรายต่อสุขภาพในช่วงเวลาที่เด็กอยู่ที่โรงเรียน ไม่มีใครเข้มงวดกวดขัน และเด็กมีอิสระที่จะเลือกซื้อ เลือกบริโภคได้ บางครอบครัวเป็นกังวลต่อการอบรมสั่งสอนด้านจริยธรรม คุณธรรม โดยเฉพาะอย่างยิ่งการซึมซับรับเอาสิ่งไม่ดีจากสภาพแวดล้อมในสังคม เช่น การใช้ภาษา พฤติกรรมที่ไม่พึงปรารถนา
          ในอีกด้านหนึ่ง บางครอบครัวเห็นการจัดการศึกษาโดยครอบครัวสอดคล้องกับวิถีชีวิตทางวัฒนธรรม ของสังคมมุสลิมโดยปรากฏและถือปฏิบัติกันมาช้านานแล้ว โดยเฉพาะในอดีตนั้นเกือบทุกครอบครัวจะสอนบุตรหลานเรียนคัมภีร์อัลกุร-อ่าน ภายในบ้าน ทั้งนี้อาจจะสอนโดยพ่อแม่หรือปู่ย่า ตายาย กระบวนการจัดการเรียนการสอนนี้จะเป็นไปโดยธรรมชาติ เพื่อเป้าหมายให้บุตรสามารถอ่านคัมภีร์ อัล-กุรอ่านได้ ในขณะเดียวกันจะมีการสอนการปฏิบัติศาสนากิจ การละหมาด และการปฏิบัติด้านอื่นๆ ที่ใช้ในชีวิตประจำวัน นอกจากนี้ยังปรากฏการจัดการเรียนการสอนอัล-กุลอ่านในชุมชนอีกลักษณะหนึ่งคือ ในแต่ละชุมชนจะมีบ้านที่สอนอัล-กุรอ่านให้กับเด็กๆ ในชุมชนโดยพ่อแม่จะส่งบุตรมาเรียนยังบ้านดังกล่าวในช่วงเวลาที่แน่นอนของแต่ ละวัน
          โครงการวิจัยได้จัดเวทีพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็นที่ลานหน้าโรงเรียนบ้านยี่งอ มีเป้าประสงค์เพื่อให้ครอบครัวที่สนใจในการจัดการศึกษาโดยครอบครัว ได้มีโอกาสพบปะแลกเปลี่ยนความคิดเห็น ประสบการณ์กับบุคคลที่ได้จัดการเรียนการสอนโดยครอบครัวให้กับบุตร โดยเฉพาะครอบครัวที่มีบริบทของความเป็นมุสลิม อย่างครอบครัวของคุณอำหลน หลังนุ้ย จากจังหวัดสตูล ครอบครัวคุณอำหรน หลังนุ้ย เป็นครอบครัวที่นับถือศาสนาอิสลามที่จัดการศึกษาโดยครอบครัวให้กับบุตร 4 คน โดยขออนุมัติจดทะเบียนกับสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาสตูล


          “ครอบครัว AR บ้านเชิงเขา” เป็นชื่อที่คุณอำหรน ใช้ในการจดทะเบียนเพื่อขออนุมัติการจัดการเรียนการสอนโดยครอบครัว ด้วยเจตนาที่ชัดเจน และแน่วแน่ ในเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัว แม้ตนเองจะไม่ได้มีพื้นฐานด้านการศึกษา มีอาชีพเป็นเจ้าหน้าที่ออกแบบสถาปัตยกรรมประจำองค์การบริหารส่วนจังหวัดสตูล ในขณะที่ภรรยาจบการศึกษาสูงสุดเพียงระดับมัธยมศึกษาตอนต้นเท่านั้น โดยก่อนหน้าที่จะจัดการศึกษาโดยครอบครัวให้กับบุตร คุณอำหรนได้ส่งลูกคนโตเข้าโรงเรียนตามปกติในระดับชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 และหยุดเรียนในระดับประถมศึกษาปีที่ 2 เมื่อขึ้นชั้นประถมศึกษาปีที่ 3 ก็ได้กลับเข้าโรงเรียนอีกครั้งหนึ่ง การเรียนในระบบโรงเรียนของลูกสาวคนโตของคุณอำหรนยุติลงที่ระดับประถมศึกษาปีที่ 3 ซึ่งครอบครัวตัดสินใจนำบุตรออกจากระบบโรงเรียน และจัดการเรียนการสอนโฮมสคูลแก่บุตรทั้ง 3 คนของครอบครัว
          เหตุผลสำคัญที่ครอบครัวตัดสินใจจัดการเรียนการสอนโดยครอบครัวเพราะเป็นกังวล และไม่ไว้ใจในเรื่องวิถีชีวิตที่กำลังตกอยู่ในสภาวะวิกฤติด้านจริยธรรม โดยคุณอำหรน ได้เล่าถึงจุดเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญที่ทำให้ตัดสินใจเอาลูกออกจากโรงเรียน คือ “เมื่อคุณครูให้การบ้านลูกสาวคนโต ในหัวข้อบุคคลที่นักเรียนชื่นชอบ ลูกสาวจึงตอบการบ้านข้อนี้ว่าบุคคลที่เป็นที่ชื่นชอบคือ ท่านนบีมูฮำหมัด ศาสดาของศาสนาอิสลาม ในขณะที่เพื่อนๆ เกือบทั้งห้องตอบว่าชื่นชอบดารานักแสดงที่กำลังเป็นที่นิยม ผลปรากฏว่า เพื่อนทั้งห้องได้คะแนน แต่ลูกสาวผมไม่ได้คะแนน เพราะคำตอบไม่ได้อย่างที่ครูต้องการ ซึ่งก็ทำให้รู้สึกว่าขัดแย้งกับวิถีชีวิต ทั้งที่ครูที่ให้การบ้านนั้นก็เป็นครูมุสลิม สิ่งสำคัญที่ได้รับจากเหตุการณ์นี้ คือลูกกำลังถูกกัดกร่อนทางความคิดโดยระบบ หรือโดยกรอบของสังคมที่เป็นอยู่ซึ่งในบางครั้งเป็นสิ่งที่เราไม่พึงประสงค์ แต่เราก็คุมไม่ได้ จึงตัดสินใจนำลูกออกจากระบบโรงเรียน ในขณะนั้นประมาณปี 2546 เมื่อเอาลูกออกจากโรงเรียน ต้องเอาลูกไปฝากชื่อกับโรงเรียนอื่น”
เมื่อแน่ใจ และมั่นใจว่า บ้านเรียนคือคำตอบที่ดีที่สุดสำหรับการศึกษาและการจัดการเรียนการสอนให้กับลูกๆ จึงเริ่มศึกษาในรายละเอียดของ พรบ.การศึกษา กฎหมายต่างๆ ซึ่งสิ่งที่คุณอำหรนได้ทราบในอีกด้านของ พรบ.การศึกษา คือ บทลงโทษที่รัฐจะลงโทษพ่อแม่ ผู้ปกครองที่ไม่ส่งลูกเข้าเรียนตามที่รัฐบาลกำหนด คือ ปรับ 1,000 บาท และบทลงโทษจำคุก ซึ่งรัฐก็ไม่เคยได้ใช้กับใคร จะสังเกตเห็นจากเด็กเร่ร่อนตามที่ต่างๆ ในบ้านเมืองเรา รัฐก็ไม่มีการเอาผิดได้ คุณอำหรนกล่าวว่า “เรามักกลัวว่ากฎหมายจะเอาผิดเราถ้าไม่ส่งลูกไปโรงเรียน ถ้าเจ้าหน้าที่รัฐจะเอาผิดเรา เพราะรัฐได้กำหนดไว้ว่าเด็กในวัยเรียนต้องได้รับการศึกษาตามวัยอย่างเหมาะสม พรบ. การศึกษาก็ต้องการให้การศึกษานั้นสามารถยกระดับความเป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์ เราก็ขอยืนยันว่าสิ่งที่เราทำอยู่คือการจัดการศึกษาแบบบ้านเรียน คือสิ่งที่รัฐต้องการ เราไม่ได้นิ่งดูดายแต่อย่างใด”
          สำหรับครอบครัวคุณอำหรนแล้ว สิ่งที่สร้างความลำบากใจที่สุดในช่วงแรกของการตัดสินใจ จัดการเรียนการสอนโดยครอบครัว ไม่ใช่กฎข้อบังคับตามกฎหมาย พรบ. หรือกฎเกณฑ์ต่างๆ หากแต่เป็นท่าทีที่ต่อต้านจากครอบครัว จากญาติ จากเพื่อนบ้านที่ไม่สามารถทำความเข้าใจยอมรับแนวทางที่การจัดการศึกษาในแนว ทางนี้ได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับความคิดที่ว่าครอบครัวคุณอำหรนเป็นคนที่ต่อต้านระบบ โรงเรียน ซึ่งในความเป็นจริงเขากล่าวว่า ไม่ได้มีความรู้สึกต่อต้านโรงเรียน เพียงแต่คิดว่าแนวทางบ้านเรียนสอดคล้องกับความต้องการของตนเองมากกว่า และทางออกที่ดีที่สุดสำหรับสถานการณ์ที่เป็นอยู่คือ การเดินถอยออกมาจากสภาพแวดล้อมนั้น เพื่อไม่ให้มีการเผชิญหน้ากันโดยย้ายครอบครัวมาอยู่ใน อ.ควนโดน จ.สตูลในปัจจุบัน จนวันนี้ก็สามารถพิสูจน์ในสิ่งที่ทำและเป็นที่ยอมรับ

          นอกจากนี้คุณอำหรน สามารถสะท้อนมุมมองความคิดได้อย่างน่าสนใจ ในเรื่องการจัดการศึกษาโดยครอบครัวจากแนวทางการประเมินผล การเรียนของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษาว่า “การจัดการศึกษาโดยครอบครัว จะต้องมีการประเมินผลตามหลักเกณฑ์ของสำนักงานเขตพื้นที่การศึกษา ที่จะประเมินผลการเรียนของลูก แต่หากประเมินไม่ผ่านก็ไม่ได้กังวลอะไร ปีนี้ไม่ผ่านปีหน้าก็เอาใหม่ ไม่เห็นจะขาดทุนอะไร หากเรียนช้ากว่าเกณฑ์ที่กำหนดสักปีสองปีก็ไม่มีปัญหา สิ่งที่เราอยากได้คือศักยภาพของความเป็นมนุษย์ หากเรียนในห้องเรียน เพื่อนก็จะมีแต่ในโรงเรียน แต่ถ้าเรียนนอกระบบ เราเดินทาง เจอคนขับแท็กซี่ เราก็จะมีเพื่อนเป็นคนขับแท็กซี่ ไปตลาดเจอพ่อค้า ก็จะมีเพื่อเป็นพ่อค้า เด็กจะมีทักษะในการใช้ชีวิต และเราขอยืนยันว่าเราได้ทำในสิ่งที่รัฐต้องการแล้ว”
          เมื่อประมาณปี 2548 ขณะที่การเรียนการสอนได้ดำเนินไปจนลูกสาวคนโตอยู่ชั้น ป.5 และลูกสาวคนที่สองอยู่ชั้น ป.3 คุณอำหรน ก็เริ่มเป็นกังวลในความรู้ด้านวิชาการ จึงนำลูกเข้าโรงเรียนอีกครั้ง ทั้งนี้ก็ต้องการวิจัยหาข้อแตกต่างระหว่างการจัดการเรียนการสอนโดยครอบครัว กับการเรียนในระบบโรงเรียน เมื่อเวลาผ่านไป 1 ปี ก็สามารถประเมินผลออกมา ได้ 2 ด้านดังนี้ 1) ด้านวิชาการ ผลสอบของทั้งสองคน ที่ออกมาแต่ในช่วงหนึ่งปีในการเรียนในโรงเรียนเป็นที่น่าพอใจในระดับหนึ่ง 2) ด้านสังคม จากการสังเกตพฤติกรรม จะเห็นความเปลี่ยนแปลงที่ชัดเจนมาก เนื่องลูกมีเพื่อนที่หลากหลายกลุ่ม จึงมีพฤติกรรมด้านในด้านลบและเริ่มออกจากกรอบที่ครอบครัวคาดหวังมากขึ้น
หลังจากสามารถประเมินผลในแต่ละด้านได้อย่างครบถ้วนแล้ว คุณอำหรน ตัดสินใจนำลูกทั้งสองออกจากระบบโรงเรียน และเริ่มจัดการสอนโดยครอบครัวอีกครั้ง ในการจัดการศึกษาโดยครอบครัวนั้น จำเป็นต้องวางเป้าหมายการจัดการเรียนการสอนที่ชัดเจน แต่ในหลักการปฏิบัติจะต้องยืดหยุ่นในทุกกรณี ทุกสถานการณ์ มีหลายครั้งที่การกำหนดเป้าหมายต่างๆ ต้องล้มเหลว เช่นเมื่อทางครอบครัวพยายามจัดตารางการเรียนให้ลูกๆ สาเหตุเนื่องจากความพร้อมในการเรียนของเด็กแต่ละคนต่างกัน ทั้งในเรื่องเวลา และอารมณ์ เช่น กรณีลูกสาวคนสุดท้องที่ไม่สามารถจัดการให้อ่านหนังสือตามตารางเวลาที่กำหนด เพราะไม่มีความพร้อมในการอ่านหนับ ไม่มีสมาธิ กลับให้ความสนใจกับการเล่นสนุกมากกว่าในช่วงเวลาที่กำหนดในตารางเรียน แต่กลับมีพร้อมที่จะอ่านหนังสือตอนเวลา 1 ทุ่ม พ่อก็สอนอ่านหนังสือในเวลานั้น แม้จะใช้เวลาในการเรียนเพียงครึ่งชั่วโมงเท่านั้น แต่ขณะนั้นเด็กอยู่ในสภาวะอารมณ์ และสมองที่พร้อมในการเรียนรู้อย่างเต็มที่ ทุกอย่างที่เรียนรู้ในขณะนั้นก็จะสามารถซึมซับได้หมด ไม่ใช่เพียงรับรู้อย่างผิวเผินแต่สามารถเข้าไปในจิตสำนึกของเขาเลย คุณอำหรน กล่าวว่า “การศึกษาระดับชาตินั้นวางกรอบการเรียนรู้ไว้แค่อันเดียว ใครเข้าไปอยู่ในระบบนั้น ก็จะต้องทำตามกรอบตามระบบที่วางไว้ที่วาง แต่ผมจัดการศึกษาระดับบุคคล แต่ละคนจะมีกรอบการเรียนรู้ของแต่ละคนที่ไม่จำเป็นต้องเหมือนกัน”
          นอกจากไม่สามารถกำหนดตารางเรียนที่ตายตัว สำหรับการเรียนการสอนแล้ว สิ่งที่สำคัญอีกประการหนึ่ง คือ การสร้างบรรยากาศในการเรียนการสอน เป็นความจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องสร้างความสัมพันธ์ฉันท์มิตรให้เกิดระหว่าง พ่อ แม่ ลูก ให้ได้เสียก่อน ไม่วางเงื่อนไขที่จะไปบีบบังคับเด็ก และไม่กดดัน เพื่อไม่ให้บรรยากาศการเรียนการสอนเป็นไปในเชิงใช้อำนาจบังคับ เมื่อสามารถสร้างความสัมพันธ์ที่ดีต่อกันได้ บรรยากาศแห่งการเรียนรู้ที่มีความสุขก็จะเกิดขึ้น เด็กๆ พร้อมที่เรียนรู้ร่วมกันทั้งกับเพื่อนๆ และกับพ่อแม่ อีกทั้งยังเป็นการกระตุ้นให้เด็กกล้าที่จะเข้ามามีส่วนร่วมในทุกการเรียนรู้ ซึ่งกระบวนการสอนเพื่อให้เด็กเข้ามามีส่วนร่วมดูเหมือนว่า จะเป็นกระบวนการที่ยากที่สุดในการจัดการเรียนการสอนสำหรับคุณอำหรน
          นอกจากนี้เทคนิคการสอนก็มีความสำคัญเช่นกัน วิธีการสอนเด็กแต่ละคนจะมีความแตกต่างไปตามนิสัย สภาวะอารมณ์ ความถนัด และอีกหลายๆ ปัจจัย จึงเป็นหน้าที่ของพ่อแม่ที่จะคอยสังเกตพฤติกรรมในการเรียนรู้ของลูก รวมทั้งการจัดหาสื่อการสอน อุปกรณ์ในการเรียนรู้ และการสร้างพื้นที่สำหรับกระตุ้นการเรียนรู้ความเข้าใจ ในปัจเจกบุคคลในตัวลูกๆ ของคุณอำหรน และภรรยา นั้นนอกจากจะสามารถสร้างบรรยากาศที่ดีในการเรียนรู้แล้ว ยังสามารถสัมผัสได้ถึงบรรยากาศแห่งความสุขของครอบครัวบ้านเรียน “ครอบครัว AR บ้านเชิงเขา” คุณ อำหรนกล่าวว่า “ช่วงวันเวลาที่ลูกอยู่กับเราเพียง 15 -16 ปี เท่านั้น เมื่อถึงเวลาที่เขาต้องเดินออกไปจากเรา เราก็ต้องปล่อยเขาไป ฉะนั้นช่วงเวลานี้เป็นช่วงเวลาที่เขาต้องการความรัก ความอบอุ่น ต้องการการดูแล เราก็ต้องใช้ช่วงเวลานี้ โอกาสที่เรามีอยู่นี้ดูแลเขาอย่างเต็มที่ เมื่อถึงเวลาที่ลูกๆต้องออกไปใช้ชีวิตในโลกกว้าง เขาก็จะสามารถแยกแยะ สิ่งที่ดี สิ่งที่ชั่วร้ายได้ ใช้ชีวิตให้เดินไปตามแนวทางของศาสนา และพอใจในสิ่งที่ตนมี ผมไม่เคยคาดหวัง ว่าโตขึ้นลูกๆ จะเป็นอะไร มีอาชีพอะไร ไม่เคยหวังอะไร แต่ผมเชื่อมั่นในตัวลูกๆ ทุกคน แต่ในขณะที่เราไม่ได้คาดหวังเราก็ต้องทำหน้าที่ของพ่อแม่ให้ดีที่สุด ส่วนผลจะออกมาเป็นอย่างไรนั้น เราไม่มีหน้าที่ไปกำหนด เพราะเราทุกคนต่างก็มีสิ่งที่ถูกกำหนดมาตั้งแต่เกิด ผมเชื่ออย่างนั้น ผมจึงไม่กังวลอะไรเลย”
          โลกทัศน์ของศาสนาอิสลาม ได้ปรากฏให้เห็นเป็นรูปธรรมในการจัดการเรียนการสอน ตั้งแต่การให้ความสำคัญกับการเรียนพระมหาคัมภีร์ อัล-กุรอ่าน การศึกษาภาษาอาหรับโดยจัดหาครูเจ้าของภาษามาให้การศึกษาแก่บุตร การดำเนินวิถีชีวิตในกรอบของวัฒนธรรมอิสลามในชีวิตประจำวันอย่างเข้มงวด รวมทั้งการคัดกรองในรายละเอียดการสอนหนังสือให้กับผู้เรียน กล่าวคือ เมื่อนำหนังสือเรียนใดมาใช้ในการเรียนการสอนให้กับบุตร คุณอำหรน จะพิจารณาในรายละเอียดของตำรา หรือหนังสือต่างๆ โดยละเอียด หากมีส่วนหนึ่งส่วนใดที่มีเนื้อหาที่ขัดแย้งกับหลักความเชื่อ หรือหลักอากีดะห์ ของศาสนาอิสลาม คุณอำหรนจะทำการปรับเปลี่ยนเนื้อหาให้สอดคล้องกับหลักการของศาสนาอิสลามโดย ไม่ทำให้เกิดความสับสนหรือความขัดแย้งของเนื้อหาตามตำรา หรือหนังสือที่นำมาใช้สอน
เมื่อเกิดเหตุการณ์ความไม่สงบเมื่อใด โรงเรียนต้องปิดบ่อยๆ เด็กๆ ขาดโอกาสที่จะเรียนหนังสือ การจัดการศึกษาโดยครอบครัว จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกที่เสริมช่องว่างนี้ได้ โดยไม่ต้องปฏิเสธการศึกษาในระบบแต่อย่างใดเลย
 
ขอบคุณบทความดี ๆ จาก http://www.budutani.com/article/article84.html

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น