รู้จักครูซอ

บทนำ :: Mistersor แต่แรก
นายซอและฮ์ เป็นชื่อที่เพื่อน ๆ พี่ ๆ และน้อง ๆ เรียกกันติดปากกันตั้งแต่เรียนมัธยมกันแล้ว  นายซอและฮ์ เขาเป็นคนที่กระหายในความรู้ โลภที่จะเรียนรู้และทดลองสิ่งใหม่ ๆ เพื่อต่อยอดเซลสมองออกไปเรื่อย ๆ จนไม่อยากให้มันมีที่สิ้นสุด
เดิมทีนั้น นายซอและฮ์ เขาเป็นคนบ้านหัวควน ตำบลน้ำผุด อำเภอละงู เพราะเขาเกิดที่นั่น คนเฒ่าคนแก่ ที่นั่นรู้จัก นายซอและฮ์ กันเป็นอย่างดี เนื่องจากความน่ารัก น่าเตะ ของ นายซอและฮ์ ในสมัยนั้น
ภาคที่หนึ่ง :: Mistersor เข้าสู่วัยประถมศึกษา 
จาก นั้นนายซอและฮ์ ก็ย้ายมาอยู่ที่ฉลุง ซึ่งเป็นบ้านของหวัน และได้เข้าเรียนในชั้นเด็กเล็กที่โรงเรียนบ้านกุบังจามัง จริง ๆ เขาไปป้วนเปี้ยนที่โรงเรียนบ้านกุบังจามัง ตั้งแต่อายุยังไม่เข้าเกณฑ์เสียด้วยซ้ำไป ตอนนั้นที่นั่นเขาไม่ยอมให้เรียนก่อนเกณฑ์ นายซอและฮ์ เรียนที่โรงเรียนบ้านกุบังจามังจนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ 6 ตลอดระยะเวลา 6 ปี นั้น นายซอและฮ์ ได้สร้างวีรกรรมต่าง ๆ ไว้มากมาย ไม่ว่าจะเป็น หนีโรงเรียนไปเดินตามรถไถนาของ หวาเอ็ม เพื่อจับปลาในนาหลังโรงเรียน วิ่งหนีหมอที่มาฉีดวัคซีนโดยกระโดดออกทางหน้าต่างชั้น 2 แล้วจรูดลงทางต้นไม้ที่พาดติดหน้าต่าง เล่นบอลกันแล้วบังเอิญมันลอยไปเข้าหม้อแกงส้ม (ตอนนั้นเล่นบอลพลาสติก) วิดปลากันในหนองกุบังจามังของโรงเรียน ตอนไปเข้าค่ายพักแรมก็ดันไปปลุกเพื่อนตอนตีสามแล้วถามว่างวดนี้เบอร์ออกอะไร ปรากฎว่า มีครูเอาไปซื้อ ถูกไปหลายพัน เพื่อนคนนั้นดังไปเลยและอีกหลาย ๆ เรื่องที่ต้องเซ็นเซอร์ แต่จะว่าไปแล้วเรื่องดี ๆ ของ นายซอและฮ์ ก็คละคลุย เหมือนกัน เช่น การเป็นตัวแทนของโรงเรียนไป ตอบปัญหาวิชา สปช. แข่งขันการคิดเลขเร็ว แข่งขันการเขียนตามคำบอกและครองแชมป์สอบได้ที่หนึ่งมาตลอด
ภาคที่สอง :: Mistersor ในวัยมัธยมศึกษาตอนต้น กับการผจญภัยในต่างจังหวัด 

ภาคที่สาม :: Mistersor กับประวัติการศึกษา
จริง ๆ แล้วเริ่มเข้ารับการศึกษาครั้งแรกตั้งแต่วินาทีแรกที่ลืมตาดูโลกนั่นแหละ ครับ เพราะโต๊ะโสม (คุณย่า นางโสม เถาวัลย์)บอกว่าโต๊ะหวัน (คุณตา นายมอราด เถาวัลย์) เป็นคนอาซานให้ผมที่หูด้านขวา และอีกอมะห์ ที่หูด้านซ้าย โดยมีโต๊ะหวาแอ (ผู้ใหญ่ข้างบ้านที่เคารพนับถือ) และอีกหลาย ๆ ท่าน ร่วมแสดงความยินดี ท่านสอนให้ผมรู้จักพระเจ้า ณ บัดนั้นเป็นต้นมา

จากนั้นเวลาผ่านไปจนถึงปีพุทธศักราช (จำไม่ได้ ขอไปดูก่อนวันหลังค่อยบอก) ก็เริ่มเข้าเรียนในระดับชั้นเด็กเล็กที่โรงเรียนบ้านกุบังจามัง และใช้ชีวิตในวัยประถมศึกษาในโรงเรียนแห่งนี้จนจบชั้นประถมศึกษาปีที่ ๖ ในปีพุทศักราช (ขอไปดูสมุดพกก่อน)

เด็กชายเชษฐา เถาวัลย์ ณ วันที่จบ ป.๖ โรงเรียนบ้านกุบังจามัง
ใน ขณะที่เรียนชั้นประถมศึกษาอยู่นั้น ในวันเสาร์และวันอาทิตย์ ก็ไม่ได้หยุดครับ ต้องไปเรียนการศึกษาภาคฟัรฎูอีน ที่โรงเรียนนูรุลฟุรกอน หรือที่พวกเรารู้จักกันในนาม โรงเรียนครุสัมพันธ์ นั่นแหละครับ ตอนที่ผมเรียนนั้น ใช้อาคารของมัสยิดบ้านกุบังจามังนั่นแหละครับเป็นที่เรียน ก็นั่งบ้าง นอนบ้าง ตามอัตถาพนะครับ แต่ที่นี่ได้วางรากฐานทางวิชาการศาสนาให้ผมเป็นอย่างดีมากทีเดียว

หลังจากจบ ป.๖ จากที่บ้านแล้วนั้น ก็มีการหารือกันว่าจะให้ผมไปต่อที่ไหนดี ตอนนั้นก็มีหลากหลายแนวคิดนะครับ แต่สุดท้ายผมขอตัดสินใจด้วยตนเองตามเงื่อนไขที่ผมตั้งไว้คือ หนึ่ง ต้องเป็นโรงเรียนที่สอนศาสนาด้วย สอง ต้องไม่ใช่ในจังหวัดสตูล ที่ไหนก็ได้ที่ไม่ใช่สตูล
คิดได้ดังนั้นก็หาข้อมูลสิครับ สุดท้ายผมเลือกที่จะไป โรงเรียนอัตตัรกียะห์ อิสลามมียะห์ จังหวีดนราธิวาส
ผมใช้ชีวิตที่จังหวัดนราธิวาสเป็นเวลา ๖ ปีเต็มนั่นภายใต้เลขประจำตัว ๑๓๗๔๗ และเป็นที่รู้จักกันในนาม "ซอและฮ์ เด็กสตูล ที่มีตำหนิบนหัว" ในอัตตัรฯ ตอนนั้นใครไม่รู้จักผม บอกได้คำเดียวว่า "เซาะกราว มาก ๆ " อย่าว่าแต่ในโรงเรียนอัตตัรฯ เลย ชาวบ้านละแวกนั้นก็รู้จัก เพราะเรดาห์ บนหัวผมมันชัดเจนจริง ๆ ใครจะว่ายังไง ตอนแรก ๆ เพื่อนก็ล้อบ้าง แต่เห็นสุดท้ายก็มาขอลอกการบ้านกันประจำ ก็ถือว่าเจ๊ากันไปอย่าไปซีเรียส ผมอยู่อัตตัรฯ ตั้งแต่ชั้น ม.๑ - ม.๖ เลยทีเดียว ผมมีวีรกรรมเด็ด ๆ และความทรงจำดี ๆ ที่โรงเรียนอัตตีรกียะห์ อิสลามียะห์ แห่งนี้มากมายเกินคำบรรยายเลยก็ว่าได้ ทั้งเรียนการต่อสู่ชีวิตของเด็กไกลบ้าน เรื่องเพื่อน เรื่องครูบาอาจารย์ เรื่องเรียน เรื่องกิจกรรม เรื่องอาหาร เรื่องเที่ยว เรื่องชุมนุม ต.จ.ว.สัมพันธ์ โอย เพียบ ว่าง ๆ จะเขียนเล่าเป็นตอน ๆ ให้พวกเราได้อ่านกัน
ครูซอกับเพื่อน ๆ ชาว PEP ในงานแต่งเพื่อนร่วมห้อง

ในขณะที่เรียนชั้น ม.๖ ที่อัตตัรฯ นั้นบังเอิญมีเพื่อนที่แสนดีคนหนึ่งช่วยจัดการให้ไปสอบชิงทุนเรียนต่อ ป.ตรีด้วยกันที่ มอ.หาดใหญ่ ชวนเพื่อนคนอื่น ๆ อีกก็ไม่มีใครสนใจ ในที่สุดปีนั้น อัตตัรฯ ไปกันแค่สองคน เลือกเอกคอมฯ กับเอกเคมี ในที่สุดผมก็ได้เข้ามาเป็นนักศึกษาทุนในโครงการส่งเสริมการผลิตครูที่มีความ สามารถพิเศษทางวิทยาศาสตร์และคณิตศาสตร์ หรือที่รู้จักกันในนาม ทุน สควค. จนได้ สังกัดสาขาวิชาวิทยาการคอมพิวเตอร์ คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลา ภายใต้รหัสนักศึกษา ๔๐๔๕๕๙๐๓๔ และรู้จักกันในนาม เด็ก สะ-ค๊วก (สควค) ผมใช้เวลา ๔ ปี ที่ยะลาหมดไปอย่างรวดเร็วมาก แต่ ๔ ปีที่นั่นมีเรื่องราวต่าง ๆ ผ่านเข้ามามากมายให้ควรค่าแก่การจดจำ ทั้งเรื่องราวที่หอนอน เรื่องการเรียนที่มันมาก เรื่องการเดินทาง เรื่องสถานการณ์ชายแดนใต้ และอีกมากมาย แต่ ในที่สุดผมก็ทำให้แม่ร้องไห้จนได้ ในวันรับปริญญา นั่นเอง
ครูซอกับอาจารย์และเพื่อน ๆ ทีมงานยะลาตอนไปเขาพระวิหารก่อนถูกปิด

ตามหลักสูตรของโครงการทุน สควค. แล้วนั้นพวกเราต้องเรียน ๕ ปี คือ๔ ปีแรกเรียนในคณะวิทยาศาสตร์ตามสาขาที่เลือกไว้ตอนสอบชิงทุน และต้องไปเรียนวิชาชีพครูอีก ๑ ปี ผมและเพื่อน ๆ ก็เลยตัดสินใจไปเรียนต่อกันที่ มหาวิทยาลัยศิลปากร วิทยาเขตพระราชวังสนามจันทร์ จังหวัดนครปฐม มาอยู่ที่นี่เรื่องราวความเป็นไปของชีวิตก็ยิ่งเข้มข้นขึ้นไปอีกเมื่อได้ไป พบกับเพื่อนร่วมอุดมการณ์จากทั่วทุกสารทิศ มารวมไอ้เสือไว้ในที่เดียวกัน ความมันส์จึงบังเกิดขึ้นไม่ใช่น้อย ผมอยู่ที่นี่ในฐานะนักศึกษา หลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิต (วิชาชีพครูวิทยาศาสตร์) ภายใต้รหัสนักศึกษา ๔๙๒๕๘๔๐๕ สังกัดบัณฑิตวิทยาลัย โดยใช้คณะศึกษาศาสตร์ และโรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศิลปากร เป็นสถานที่จัดการเรียนการสอน อยู่ที่นี่มีความสุขมากครับ ทั้งบรรยากาศที่ชวนให้เรียน อาจารย์ที่น่ารักและปรึกษาได้ทุกเรื่องแม้แต่เรื่องตัง ๕๕๕ ของคุณท่านมากนะครับ ความทรงจำดี ๆ เกิดขึ้นเพียบเลย ทั้งการแบกเป้ขึ้นภู การฝึกสอน การดูงานต่าง ๆ ทั้งในและต่างประเทศ และวีกรรมทำลายของหลวงที่โรงเรียนสาธิต กับท่านอาจารย์คฑาวุธ ทองไทย หรืออาจารย์ ไข่ มาลีฮวนน่า นั่นแหละ ที่พวกเรานั่งโม้กันตามประสาเด็กใต้ ตอนเตรียมงานวิทยาศาสตร์ ปีนั้น ผมนั่งเก้าอี้หินอ่อนตัวเดียวกับพี่ไข่ จนเก้าอี้ตัวนั้นขาหาล้มกลิ้งไม่เป็นท่ากันทั้งสองคน หวางไป....
ครูซอถ่ายรูปหมู่ร่วมกับอาจารย์และเพื่อน ๆ ชาวศิลปากร ก่อนเดินทางไปเมืองจีน

จากนั้นเมื่อปี ๒๕๕๒ ผมหาเรื่องจะไปเอาทุนเรียนต่อในหลักสูตรภาคฤดูร้อน ที่มหาวิทยาลัยนเศวร จังหวัดพิษณุโลก ก็ไปแล้ว สอบแล้ว มีชื่อเรียนแล้ว แต่จู่ ๆ เขาก็ประกาศออกมาว่า อายุราชการขาดไปสามเดือน ยังไม่ได้รับทุนในเทอมนี้ ถ้าจะเรียนก็ได้แต่ต้องรอหน่อยประมาณปีนึง โอ้อัลเลาะ์ นี่พระองค์กำลังจะทดสอบอะไรผมอีกแล้วท่าน สุดท้ายผมก็เลยตัดสินใจ สำรวจแหล่งเรียนรู้ในพิดโลก อุทัยธานี และพิจิตร เสียเลย ไม่รงไม่เรียนมันก่อน ว่าแล้วพอสำรวจทั่วแล้ว ก็กลับลงใต้ทันที

จากนั้นไม่นานก็ไปสมัครเรียนหลักสูตรประกาศนียบัตรบัณฑิตบริหารการศึกษา ของมหาวิทยาลัยราชภัฏสงขลา และก็แห้วจนได้เนื่องจากอาวุโสไม่ถึง เขามองว่ายังไม่จำเป็นสำหรับเราให้คนที่เขาเป็นอยู่แล้วแต่ความรู้ไม่ถึงมา เรียนก่อน (กรรมการนี่ช่างแสนรู้จริงเชียว) ถัดมาไม่กี่วันได้ข่าวว่ามหาวิทยาลัยทักษิณมาเปิดปริญญาโท สาขาบริหารการศึกษา ที่โรงเรียนกำแพงวิทยา จังหวัดสตูล ผมก็ไปสมัครอีก จ่ายค่าสมัครเรียบร้อย รอแค่ไปยืนยันและรายงานตัวได้เลย อยู่ ๆ ก็มีท่านรองจากเขตพื้นที่โทรมาชวนไปเรียนปริญญาโท ของมหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งที่มาเปิดที่สตูล เป็นหลักสูตรเร่งรัด เอาล่ะสิ เวลาที่เข้าาไม่รู้จะเลือกที่ไหนดี ผมก็คิดอยู่นานแต่ไม่ไหวอ่ะ ค่าใช้จ่ายแพงไปหน่อยสำหรับเรา คนอื่นเขาพร้อมช่างเขา และแล้วอัลเลาะห์ก็ได้ประทานสิ่งที่ผมรอคอยมานาน นั่นคือการเรียนต่อในระดับปริญญาโท ของผมจนได้ และเป็นการตัดสินใจเลือกแบบไม่ลังเลเลยแม้แต่น้อย นั่นคือ มีพี่ที่โรงเรียนมาชวนไปเรียนกันในสาขาการบริหารและการจัดการการศึกษาอิสลาม ที่ มอ.ปัตตานี ผมขอรายละเอียดมาดูแล้วก็ ตอบตกลงบังเค้าไปทันทีเลยว่า นับผมไปด้วยเลยคนนึง จนเป็นที่มาของรหัสนักศึกษา ๕๓๒๐๔๒๐๑๒๑ บัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยสงขลานครินทร์ วิทยาเขตปัตตานี มาจนถึงปัจจุบัน ตอนนี้ก็ยังไม่จบครับกำลังปวดหัวอยู่กับงานวิจัย 18 หน่วยกิต เลยนะครับเนี่ยะ
ครูซอกับคณะอาจารย์และเพื่อน ๆ ในวันจัดสัมนาฯ

อาจจะกล่าวได้อย่างชัดเจนเลยว่า ผม เป็นคนสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ไปเสียแล้ว นั่นก็คือ มัธยมหกปีที่นราธิวาส ปริญญาตรีสี่ปีที่ยะลา และปริญญาโทอีกสองปีที่ปัตตานี เป็นอย่างไรบ้างล่ะครับกับ เส้นทางการศึกษาของผม