วันเสาร์ที่ 14 กรกฎาคม พ.ศ. 2555

Trinity of Impossibility: การจัดการศึกษาอย่างทั่วถึง มีคุณภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

 การประท้วงอดข้าวของนักเรียนโรงเรียนบดินทรเดชาเป็นกระแสข่าวที่ร้อนแรง ในช่วงเปิดเทอม ถึงแม้ว่าประเด็นของการเรียกร้องเป็นเรื่องการไม่ได้รับสิทธิเข้าศึกษาต่อใน ระดับมัธยมศึกษาตอนปลายในโรงเรียนเดิม ซึ่งเกี่ยวข้องกับระบบการคัดเลือกนักเรียนเข้าศึกษาในโรงเรียน แต่กรณีนี้ได้ถูกนำไปเชื่อมโยงกับประเด็นอื่นๆ ในระบบการศึกษาไทย อาทิ ความไม่เท่าเทียมกันของคุณภาพของโรงเรียน การจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะเพื่อแลกสิทธิการเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียง ฯลฯ

รัฐบาลในยุคสมัยต่างๆ เน้นความพยายามในการกระจายโอกาสทางการศึกษาอย่างทั่วถึง โดยผู้เรียนไม่เสียค่าใช้จ่าย แต่ปัญหาคือ งบประมาณที่ต้องใช้มีจำนวนสูงมาก แต่รัฐบาลมีงบประมาณจำกัด ระบบการศึกษาไทยจึงประสบความสำเร็จเฉพาะด้านปริมาณเท่านั้น แต่คุณภาพของการศึกษายังเป็นปัญหามาก และโรงเรียนต่างๆ มีความแตกต่างของคุณภาพการศึกษาค่อนข้างสูง
รัฐบาลในยุคหลังๆ จึงเน้นความพยายามพัฒนาคุณภาพของโรงเรียนให้ทัดเทียมกัน และทำให้โรงเรียนที่มีคุณภาพไม่กระจุกตัวเฉพาะในกรุงเทพมหานคร ดังตัวอย่างของโครงการ “หนึ่งอำเภอ หนึ่งโรงเรียนในฝัน” อย่างไรก็ตาม คุณภาพของโรงเรียนไทยยังคงเป็นปัญหา และยั้งมีความแตกต่างกันมาก
การจัดการศึกษาด้วยแนวคิด คือ ทั่วถึง มีคุณภาพ โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย จึงกลายเป็นสามสิ่งที่ไม่สามารถเกิดขึ้นพร้อมกันได้ (Trinity of impossibility) เพราะรัฐบาลของประเทศที่มีรายได้ปานกลางอย่างประเทศไทย ไม่มีทางมีทรัพยากรเพียงพอสำหรับการจัดการศึกษาด้วยแนวคิดนี้
การเปลี่ยนแปลงระบบการเงินของการศึกษาไทยน่าจะเป็นคำตอบหนึ่งของการบรรลุ เป้าหมายการจัดการศึกษาอย่างทั่วถึงและมีคุณภาพ ซึ่งผมได้เคยเสนอความเห็นเกี่ยวกับการปฏิรูประบบการเงินของการจัดการศึกษา ไว้แล้ว เมื่อครั้งที่ผมเป็นประธานคณะทำงานการศึกษา ศิลปะและวัฒนธรรม สภาที่ปรึกษาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และได้เขียนหนังสือ “อุดหนุน 4 ทิศ : คิดใหม่เรื่องเงินเพื่อการศึกษา” เมื่อปี 2547
หลักการสำคัญของข้อเสนอของผม คือ รัฐบาลไม่ควรเป็นผู้เดียวที่จ่ายเงินเพื่อจัดการศึกษา แต่ควรให้ผู้เรียนที่มีฐานะมีส่วนร่วมจ่ายด้วย ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว คนที่มีฐานะดีในประเทศนี้ได้จ่ายเงินจำนวนมากเพื่อให้ลูกหลานของตนได้เรียน ในโรงเรียนที่เขาเชื่อว่ามีคุณภาพสูงอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็นโรงเรียนนานาชาติ โรงเรียนอินเตอร์ โรงเรียนเอกชน และเป็นที่ทราบกันว่า การจ่ายเงินแป๊ะเจี๊ยะ (หรือในชื่ออื่นๆ เช่น เงินบริจาค ) เพื่อเข้าเรียนในโรงเรียนที่มีชื่อเสียงเป็นสิ่งที่มีอยู่จริงในระบบการ ศึกษาไทย
แต่การจูงใจให้ผู้มีความสามารถในการจ่ายร่วมจ่ายเงินสำหรับการจัดการ ศึกษาและพัฒนาคุณภาพการศึกษาในภาพรวมของประเทศนั้น ไม่สามารถบีบบังคับให้เขาจ่ายค่าเล่าเรียนสูงกว่าคนอื่นๆ ได้ โดยที่ไม่ได้รับประโยชน์เพิ่มขึ้นเลย
ผมได้เสนอให้มีการจัดโรงเรียนออกเป็นหลายกลุ่ม เพื่อที่รัฐบาลจะสามารถสนับสนุนการจัดการศึกษาของโรงเรียนแต่ละกลุ่มได้ อย่างเหมาะสมกับสภาพของโรงเรียน
กลุ่มโรงเรียนที่มีชื่อเสียงควรมีอิสระมากขึ้นในการจัดการศึกษา การรับนักเรียน และการกำหนดค่าเล่าเรียน โดยมีเงื่อนไขว่า การได้สิทธิเข้าเป็นนักเรียนของโรงเรียนเหล่านี้ต้องอยู่บนหลักการแข่งขัน และต้องไม่มีข้อจำกัดในการเข้าเรียนสำหรับผู้เรียนที่มีฐานะยากจน ด้วยการจัดการแบบใหม่จะทำให้โรงเรียนมีรายได้มากขึ้นสำหรับการขยายการรับนัก เรียนเข้าศึกษา ขยายสาขาของโรงเรียน หรือพัฒนาคุณภาพของการศึกษาของโรงเรียนให้ดียิ่งขึ้นได้ โดยไม่ต้องพึ่งงบประมาณจากรัฐบาล และทำให้ความจำเป็นในการเรียกรับเงินบริจาคลดลง
รัฐบาลก็จะสามารถจัดสรรงบประมาณมากขึ้น (โดยอาจจะดึงรายได้ส่วนหนึ่งจากโรงเรียนที่มีชื่อเสียงด้วยก็ได้) เพื่อพัฒนาคุณภาพการจัดการศึกษาของโรงเรียนในกลุ่มที่มีคุณภาพการศึกษาต่ำ และยกระดับคุณภาพการศึกษาของโรงเรียนทั้งประเทศให้สูงขึ้นได้
ผมขอยกกรณีของโรงพยาบาลศิริราช ซึ่งได้มีจัดตั้งโรงพยาบาลศิริราช ปิยมหาราชการุณย์ โดยมีรูปแบบการให้บริการเหมือนโรงพยาบาลเอกชน และมีค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาลสูงกว่าโรงพยาบาลรัฐ แต่มีคุณภาพเหมือนกับโรงพยาบาลศิริราชเดิม
การจัดตั้งโรงพยาบาลแห่งใหม่มีวัตถุประสงค์เพื่อทำให้ความแออัดของโรง พยาบาลศิริราชเดิมลดลง ขณะที่ผู้ป่วยที่มีฐานะก็ยินดีจ่ายค่ารักษาพยาบาลสูงขึ้นเพื่อแลกกับความ สะดวกสบายมากที่ ส่วนโรงพยาบาลก็มีรายได้มากขึ้น ทำให้สามารถรองรับผู้ป่วยที่มีฐานะยากจนได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้น
อุปสรรคสำคัญของการปฏิรูปการเงินของระบบการศึกษา คือ คนจำนวนหนึ่งยังยึดมั่นอยู่กับแนวคิดความเท่าเทียมทางการศึกษาที่ว่า ทุกคนต้องมีโอกาสได้รับการศึกษาโดยเท่าเทียมกัน มีคุณภาพเหมือนกัน และไม่เสียค่าใช้จ่าย (หรือต้องจ่ายเท่ากัน) ซึ่งในโลกแห่งความเป็นจริงนั้นเป็นไปไม่ได้ และไม่ควรเป็นเช่นนี้ด้วยเพราะจะกลับเป็นการทำลายแรงจูงใจในการพัฒนาของแต่ ละโรงเรียนเพื่อให้มีคุณภาพสูงขึ้น และทำให้ภาพรวมการศึกษาไทยมีอัตราการพัฒนาที่ช้าลงไปอีก
ศ.ดร.เกรียงศักดิ์ เจริญวงศ์ศักดิ์
นักวิชาการอาวุโส มหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ด
kriengsak@kriengsak.com, http:// www.kriengsak.com

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น